Category: ข่าวอสังหาริมทรัพย์ (67)

6-3หนังตัวอย่าง-728x429

หนังตัวอย่างจากแผนธุรกิจ 6 บิ๊กแบรนด์เมืองกรุงออกไล่ล่าการลงทุนในหัวเมืองต่างจังหวัด

เริ่มกันที่ ค่ายศุภาลัย แผนธุรกิจในปี 2563 ปัจจุบันตะลุยลงทุนพื้นที่นอกกรุงเทพฯแล้ว 20 จังหวัด

อาทิ เชียงราย นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี อุดรธานี ขอนแก่น อุบลราชธานี ฯลฯ โดยคอนโดมิเนียมจะเน้นเมืองท่องเที่ยวที่มีชาวต่างชาติจำนวนมาก เช่น ชลบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต สงขลา ระยอง

ต้นปี 2563 ประกาศแผนเปิดตัวแนวราบ 12 โครงการ ลดลงจากปี 2562 ที่เปิด 14 โครงการ เน้นราคา 10 ล้านบาทบวกลบ

เรื่องใหม่คือเล็งเข็มทิศการลงทุนไปยังจังหวัดใหม่ที่ศุภาลัยยังไม่เคยเข้าไป อาทิ พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก ฉะเชิงเทรา โดยตั้งเป้าขยับสัดส่วนยอดขายตลาดต่างจังหวัดเพิ่มเป็น 32% ของเป้ารายได้ทั้งบริษัท

ถัดมา ค่ายแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุว่า ปี 2563 วางแผนเปิดตัวใหม่ 16 โครงการ 28,440 ล้านบาท ในจำนวนนี้แบ่งมาลงทุนในต่างจังหวัด 3 โครงการ

ทั้งหมดเป็นบ้านเดี่ยว บนที่ดิน 17-83 ไร่ ได้แก่ สีวลี 3 อยุธยา, สีวลี รัษฎา ภูเก็ต และมัณฑนา สันทราย เชียงใหม่ มูลค่ารวม 4,224 ล้านบาท เป็นสัดส่วน 14.85% ของมูลค่าโครงการเปิดตัวใหม่ปีนี้

ถัดมา ค่ายเอพี (ไทยแลนด์) วางแผนเปิดตัวใหม่ 37 โครงการ 47,150 ล้านบาท

เรื่องใหม่ปี 2563 เอพีจะเริ่มทดสอบตลาดต่างจังหวัดผ่านโครงการแนวราบ ภายใต้โมเดลธุรกิจพัฒนามิกซ์โปรดักต์ โฟกัสหัวเมืองรองทั่วทุกภูมิภาค 4-5 โครงการ ราคา 1-2 ล้านบาทโดยเริ่มสตาร์ตที่จังหวัดนครศรีธรรมราชภายในครึ่งปีหลัง ซึ่งเตรียมที่ดินรอพัฒนาโครงการแล้ว

ถัดมา ค่ายแสนสิริ ปีนี้วางแผนเปิดตัวใหม่ 18 โครงการ 24,000 ล้านบาท มีทั้งคอนโดฯ บ้านเดี่ยว ทาวน์โฮมและมิกซ์โปรเจ็กต์

สำหรับตลาดต่างจังหวัด ณ ไตรมาส 1/63 แสนสิริเปิดตัว 1 โครงการแบรนด์อณาสิริ ป่าคลอก ภูเก็ต บ้านเดี่ยวและบ้านแฝด 2 ชั้น บนที่ดิน 50 ไร่ 259 ยูนิต ราคา 4.5-7 ล้านบาท เริ่มเปิดจองตั้งแต่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา

ขณะที่มีการเปิดตัวใหม่ช่วง 5 เดือนแรก อาทิ บ้านเดี่ยวสราญสิริ เกาะแก้ว และบุราสิริ เกาะแก้ว, คอนโดฯ 2 โครงการ คือ ดีคอนโด กำแพงแสน กับดีคอนโด แคมปัส รีสอร์ท กู้กู ภูเก็ต

นอกจากนี้ มีคอนโดฯที่เตรียมส่งมอบปีนี้ 4 โครงการ ได้แก่ ดีคอนโด ริน เชียงใหม่, ดีคอนโด บลิซ ศรีราชา, เดอะ เบส เซ็นทรัล ภูเก็ต และลา ฮาบาน่า หัวหิน

ถัดมา ค่ายลลิล พร็อพเพอร์ตี้ แจ้งว่าปี 2563 วางแผนลงทุน 9-11 โครงการ 5,000-5,500 ล้านบาท ตั้งเป้ายอดขาย 6,200 ล้านบาท เป้ารับรู้รายได้ 5,250 ล้านบาท ในจำนวนนี้สัดส่วน 10-20% เป็นการลงทุนในต่างจังหวัด ตามหัวเมืองใหญ่-หัวเมืองรอง

ทว่า ลลิลฯประกาศรีวิวแผนลงทุนในโซน EEC (ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา) โดยชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ออกไปจากแผนเดิม 3-6 เดือน เนื่องจากรับผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19

ล่าสุด “ณพงศ์ ปริพนธ์พจนพิสุทธิ์” บิ๊กค่ายโอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ขานรับรัฐบาลปลดล็อกเคอร์ฟิวทั่วประเทศ เปิดตัวคอนโดฯ “โอเชี่ยน แกรนด์ เรสซิเดนซ์ มิตรภาพ-ขอนแก่น” ห้องชุดไซซ์ 22-35 ตารางเมตร ราคาเริ่มต้น 1.19 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 400 ล้านบาท ต่อยอดจากความสำเร็จโครงการแรกในพื้นที

ปัจจุบัน โอเชี่ยนฯลงทุนใน 3 จังหวัดหลัก ทำคอนโดฯในเมืองพัทยาและภูเก็ต ทำแนวราบในจังหวัดขอนแก่น

“โอเชี่ยนยังคงยึดกลยุทธ์ลงทุนในหัวเมืองภูมิภาคเป็นหลัก แม้ปีนี้โรคระบาดเข้ามาเป็นปัจจัยกระทบ แต่ตลาดอสังหาฯต่างจังหวัดมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ยอดขายไม่หวือหวาแต่มียอดซื้อต่อเนื่อง เพราะพฤติกรรมการซื้อเป็นลูกค้าเรียลดีมานด์”

QR Code LINE@ Prachachat

ไม่พลาดข่าวสำคัญ เจาะลึกทุกประเด็น
เพิ่มเราเป็นเพื่อนทาง @prachachat

ติดตามข่าวธุรกิจ

D4C4DB37-4BE7-4313-9E29-05008F023F03-e1589422843249-728x485

กทม.เปิดใช้ฟรีส่วนต่อขยาย “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” หมอชิต-วัดพระศรีฯ ปลายปีวิ่งถึง “สถานีคูคต” บิ๊กแบรนด์คอนโดฯเอพี เอสซีฯ บีทีเอส-แสนสิริ ออริจิ้นฯ พฤกษาฯ เซ็นทรัล แกรนด์ยูนิตี้ จัดโปรโมชั่นระบายสต๊อก ห้องหลุดดาวน์หั่นราคา 50% ถึง 1 ล้าน ของแถมไม่อั้น อยู่ฟรี 2-5 ปี

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า รถไฟฟ้าสายสีเขียวหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จเกือบ 100% โดยทยอยเปิดเป็นช่วง ๆ ล่าสุดเปิดเพิ่ม 4 สถานี ระยะทาง 4.2 กม.จากหมอชิตถึง ม.เกษตรศาสตร์ ได้แก่ สถานีกรมป่าไม้ บางบัว กรมทหารราบที่ 11 และวัดพระศรีฯ และปลายปีจะเปิดตลอดสายถึงสถานีคูคต

“เราให้บริการฟรีจากหมอชิต-วัดพระศรีฯ และแบริ่ง-สมุทรปราการ จนกว่าจะอนุมัติสัญญาสัมปทานจากคณะรัฐมนตรีที่บีทีเอสจะเก็บค่าโดยสารตามโครงสร้างใหม่ มีค่าแรกเข้าและเก็บในอัตรา 15-65 บาท”

นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทย กทม. เจรจาสัมปทานสายสีเขียวทั้งโครงการกับบีทีเอสจบแล้ว อัยการสูงสุดเห็นชอบร่างสัญญาแล้ว เหลือเสนอ ครม.อนุมัติ คาดว่าเสนอในเดือน มิ.ย.นี้ ลงนาม ส.ค.-ก.ย.พอดีกับการเปิดให้บริการตลอดสาย

“ส่วนต่อขยายจะเปิดฟรีจนกว่ามีประกาศค่าโดยสารใหม่ โดยบีทีเอสต่ออายุโปรโมชั่นบัตรแรบบิทเติมเงินเที่ยวละ 1 บาทในเส้นทางหลักออกไปอีก”

บิ๊กคอนโดฯจัดโปรฯสนั่น

“ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย จากสถานีห้าแยกลาดพร้าว-สะพานใหม่ พบว่า มีการจัดโปรโมชั่นลดราคาจำนวนมาก อาทิ สถานีห้าแยกลาดพร้าว เอพี จัดโปรฯ “ไลฟ์ ลาดพร้าว” 46 ชั้น 1,615 ยูนิต ขาย 135,000 บาท/ตร.ม. ฟรีสัญญา ฟรีดาวน์ ฟรีค่าโอน, ไลฟ์ ลาดพร้าว วัลเล่ย์ 44 ชั้น 1,141 ยูนิต ห้อง 35 ตร.ม. ขายราคาเดียว 4.99 ล้านบาทถึง 14 มิ.ย.นี้ “เดอะไลน์ พหลโยธิน พาร์ค” ของแสนสิริ-บีทีเอส จัดโปรฯเริ่มที่ 3.29 ล้านบาท รับส่วนลดสูงสุด 400,000 บาท ผ่อน 5,999 บาท/เดือน

รัชโยธิน-เสนาฯสาดโปรฯเดือด

“สถานีพหลโยธิน 24” ไนท์บริดจ์ ไพรม์ รัชโยธินของออริจิ้นฯ 333 ยูนิต ประกาศลดเป็นล้าน เริ่มที่ 3.99 ล้านบาท “ไนท์บริดจ์ สเปล รัชโยธิน” 488 ยูนิต อยู่ระหว่างก่อสร้าง “สถานีรัชโยธิน-เสนานิคม” มี “เซ็นทริค รัชโยธิน” ของเอสซี แอสเสท โปรฯอยู่ฟรี 24 เดือน เริ่ม 3.9-9.9 ล้านบาท, “แมสซารีน รัชโยธิน” ของแกรนด์ยูนิตี้ เริ่ม 3.47 ล้านบาท “พรีมิโอ ควินโต” ของพรีบิลท์ จัดโปรฯรับเงินคืน 100 เท่า จ่าย 999 บาท ฟรีโอน+เฟอร์ฯ เริ่ม 2.89 ล้านบาท

LPN-แกรนด์ยูลดเพียบ

“เอลลิโอ เดล มอส์ส์” ของอนันดาฯ จัดโปรฯอยู่เลย ผ่อนทีหลัง 2 ปี ลดจาก 2.89 ล้านบาท เหลือ 2.09 ล้านบาท, “เดอะวิลล์ เอ็กซ์เพรส” ของสิริพัฒน์ นำห้องหลุดดาวน์ 32 ตร.ม. ขายราคา 3.9 ล้านบาท จากเดิม 4 ล้านต้น ๆ, “ฟิล พหล 34” ของซีพีเอ็น เรสซิเด้นซ์ ลดเหลือ 2.89 ล้านบาท, “ลุมพินี พาร์ค พหล 32” ของ LPN ลดจาก 125,000 บาท เหลือ 98,000 บาท/ตร.ม.

“สถานี ม.เกษตรศาสตร์” คอนโดฯ “มิติ ชีวา เกษตร สเตชั่น” 200 ยูนิต เริ่มที่ 1 ห้องนอน 4 ล้านบาท 2 ห้องนอน 5-6 ล้านบาท “สถานีกรมป่าไม้” ออริจิ้นฯ ขึ้นโครงการเคนซิงตัน พหล-เกษตร 8 ชั้น 229 ยูนิต หลังโรงแรมมารวย เริ่มต้น 1.9 ล้านบาท ตอนนี้ขายหมดแล้ว

“สถานีบางบัว” ตรงข้าม ม.ศรีปทุม “แกรนด์ ยูนิตี้ ดีเวลล็อปเมนท์” ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ขึ้น “เซียล่า ศรีปทุม” นำห้องหลุดโอน 26.5-31.5 ตร.ม.เฉพาะชั้น 24-27 จัดโปรฯรับรถไฟฟ้าลดครึ่งล้าน เริ่ม 2.79 ล้านบาท ฟรีทุกค่าใช้จ่ายถึง 31 ก.ค.นี้

ซอยพหลโยธิน 49 ติดถนนเชื่อมพหลโยธิน-วิภาวดีฯ มี “เคนซิงตัน เกษตร แคมปัส” ของออริจิ้นฯ นำยูนิตสุดท้าย 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ จัดโปรฯจาก 4.99 ล้านบาท เหลือ 3.99 ล้านบาท ฟรีโอน

3 ค่ายจัดหนัก

“สถานีวัดพระศรีฯ” สถานีร่วมสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) “โมดิช อินเตอร์เชนจ์” ของแอสเซทไวส์ 217 ยูนิต จัดโปรฯจอง+ทำสัญญา 999 บาท เริ่ม 1.99 ล้านบาท “รีเจ้นท์โฮม” ของรีเจ้นท์ กรีน เพาเวอร์ ขึ้นโครงการใหญ่ ขายต่ำ 1 ล้านบาทมาหลายปีแล้ว ฝั่งไปสะพานใหม่ ซ้ายมือมี “ซิลค์ เพลส” 274 ยูนิต เริ่ม 2.57 ล้านบาท ติดกับ “ไนท์บริดจ์ พหลโยธินอินเตอร์เชนจ์” ของออริจิ้นฯ 726 ยูนิต จัดโปรฯห้องใหญ่ 36 ตร.ม. ลด 800,000 บาท จาก 4.29 ล้านบาท เหลือ 3.49 ล้านบาท เว้นผ่อนนานสูงสุด 1 ปี และ “โมดิช สเตชั่น” คอนโดฯแต่งครบ 246 ยูนิต ขายราคาเดียว 1.99 ล้านบาท จอง 0 บาท ฟรีทุกค่าใช้จ่าย

“สถานีพหลโยธิน 59” มี “ริชพาร์ค เทอร์มินอล” ของริชชี่ เพลส 2002 ติดรถไฟฟ้า 0 เมตร 594 ยูนิต เริ่มที่ 2.59 ล้านบาท เข้าซอยพหลฯ 63 มี “เคนซิงตัน 63” ของออริจิ้นฯ 231 ยูนิต ช่วยผ่อน 5 ปี แต่งห้องฟรี ส่วนลด 200,000 บาท ลดจาก 2.19 ล้านบาท เหลือ 1.99 ล้านบาท บุคลากรการแพทย์ผ่อน 0 บาท 1 ปี

สายหยุดลดกระหน่ำ

“สถานีสายหยุด” จุดเชื่อมถนนเทพารักษ์ มี “บราวด์ พหลโยธิน 67” ของแอสเซทไวส์ 174 ยูนิต จอง 0 บาท ฟรีค่าโอน เริ่ม 1.89 ล้านบาท “ไนท์บริดจ์ สกายซิตี้ สะพานใหม่” ของออริจิ้นฯ ติดสถานีรถไฟฟ้า 490 ยูนิต เริ่ม 4.59 ล้านบาท, “เดอะ เบส สะพานใหม่” ของบีทีเอส-แสนสิริ สูง 14 ชั้น 2 อาคาร 820 ยูนิต ห่างสถานี 30 เมตร จะสร้างแล้วเสร็จ ก.ค. 2563 ขายราคาพิเศษแต่งครบ ผ่อน 5,999 บาท/เดือน เริ่ม 2.79 ล้านบาท

ส่วน “เทมโป ควอด สะพานใหม่” ของบิลท์ แลนด์ 153 ยูนิต ลดราคา 500,000 บาท, เอพพิโซด พหลโยธิน-สะพานใหม่ ของแอสเซทไวส์ 465 ยูนิตก็ลดราคาเช่นกัน ล่าสุด บมจ.ออริจิ้นฯ ขึ้นโครงการ ดิ ออริจิ้นพาร์ค-สะพานใหม่ 14 ชั้น 536 ยูนิต จะเปิดขายที่ราคา 1.89 ล้านบาท ฟรีค่าใช้จ่าย ณ วันโอน บมจ.พฤกษาฯ ขึ้นคอนโดฯ “พลัม สะพานใหม่ สเตชั่น” 8 ชั้น 3 อาคาร 681 ยูนิต ในซอยพหลฯ 52 ห่างสถานี 150 เมตร จัดโปรโมชั่นลด 50% เหลือ 1.25 ล้านบาท

ซัพพลายสะสม 3.5 หมื่นหน่วย

นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บจ.ฟีนิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ เปิดเผยว่า คอนโดมิเนียมแนวสายสีเขียวส่วนต่อขยายจากห้าแยกลาดพร้าว-สะพานใหม่ มียูนิตสะสม 35,300 หน่วย ยังเหลือขายกว่า 4,000 ยูนิต พื้นที่รอบสี่แยกรัชโยธินเหลือสะสมมากสุด 34% รองลงมาเสนานิคม-ม.เกษตรศาสตร์ มีเปิดขายใหม่ 29% ส่วนสี่แยกหลักสี่-สะพานใหม่ มีหน่วยสะสมน้อยสุด เพราะไม่มีแหล่งงานขนาดใหญ่ อัตราการขายเฉลี่ยอยู่ที่ 86% เฉลี่ยสูงสุดคือห้าแยกลาดพร้าว ราคาขายเฉลี่ย 110,000 บาท/ตร.ม. ถัดมาคือเสนา-เกษตรศาสตร์ 88,000 บาท/ตร.ม. หลักสี่-สะพานใหม่ 78,000 บาท/ตร.ม.

“รถไฟฟ้าเปิด 4 สถานีใหม่จากกรมป่าไม้-วัดพระศรีฯ อาจไม่มีผลต่อตลาดอสังหาฯหรือราคาที่ดินตลอดแนว เพราะเศรษฐกิจชะลอตัว แล้วส่วนใหญ่เป็นที่ราชการทหาร สถานศึกษา”

QR Code LINE@ Prachachat

ไม่พลาดข่าวสำคัญ เจาะลึกทุกประเด็น
เพิ่มเราเป็นเพื่อนทาง @prachachat

ติดตามข่าวธุรกิจ

F6F099B0-20CE-457A-9E92-7DE5524EF69B-728x373

“ลุมพีนี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น” ในเครือ LPN คาดตลาดอสังหาริมทรัพย์ครึ่งปีหลัง 2563 มีโอกาสฟื้นตัวหลังโควิด-19 มีแนวโน้มคลี่คลาย กำลังซื้อมีอยู่ในตลาด ผู้ประกอบการอสังหาฯ ประกาศผลดำเนินงานไตรมาสแรกมีกำไรเฉลี่ย 13.81% ในภาพรวม


ประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพีนี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom)

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพีนี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom) บริษัทด้านการวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน)(LPN) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/63 ของ 29 บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีรายได้รวม 59,207.66 ล้านบาท ลดลง 30.43% กำไรสุทธิ 8,176.88 ล้านบาท ลดลง 40.68% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/62 ก็ตาม แต่เมื่อเทียบความสามารถในการทำกำไร (Net Profit Margin) พบว่ารักษาระดับความสามารถในการทำกำไรเฉลี่ย 13.81% ถือว่ายังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น

นอกจากนี้ สัดส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio) ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 เฉลี่ยยังต่ำกว่า 2:1 เท่า สะท้อนถึงความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทอสังหาฯ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งแตกต่างจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่สัดส่วนหนี้ต่อทุนสูงเกินกว่า 2:1 ทำให้มีความเสี่ยงในการทำธุรกิจเมื่อเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจหดตัว

LPN Wisdom ประมาณการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบ 5-7% สอดคล้องกับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยจะติดลบ 5-6% ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจอสังหาฯ ปี 2563 มีแนวโน้มติดลบ 15-20% เมื่อเทียบกับปี 2562

โดย LPN Wisdom มั่นใจว่าโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่งของผู้ประกอบการอสังหาฯ โดยเฉพาะบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environment, Social, Governance: ESG) ซึ่งอยู่ในบัญชีรายชื่อหุ้นยั่งยืนหรือ Thailand Sustainability Investment (THSI) จะสามารถสร้างรายได้ ยอดขาย และกำไร ในห้วงเวลาที่เศรษฐกิจชะลอตัว

และจากการวิเคราะห์กำลังซื้อไตรมาส 1/63 พบว่า ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยมีอย่างต่อเนื่องทั้งแนวราบและอาคารชุด รายได้ที่ลดลงของผู้ประกอบการเฉลี่ย 30.43% ในไตรมาสแรกเป็นผลมาจากการที่ไม่สามารถโอนให้กับผู้ซื้อต่างชาติที่ไม่สามารถมาโอนอาคารชุดได้ซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 บางส่วนเป็นลูกค้าซื้อเพื่อการลงทุนที่ชะลอลงทุน

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มคลี่คลาย คาดว่าจะสามารถปลดล็อกได้สิ้นไตรมาส 2/63 LPN Wisdom คาดว่า ตลาดอสังหาฯ จะค่อยๆ ฟื้นตัวในไตรมาส 3/63-4/63 โดยคาดว่าจะทยอยเปิดตัวโครงการใหม่ใหลังจากชะลอแผนเปิดตัวในไตรมาส 2/63 มองว่าจะมีการเปิดตัวโครงการใหม่ 50,000-55,000 ยูนิต มูลค่า 175,000-190,000 ล้านบาท ลดลง 50-55% เทียบกับระยะเดียวกันปี 2562 ภายใต้เงื่อนไขไม่มีการระบาดโควิดระลอกสอง

“แม้ภาพรวมอสังหาฯ ฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ 29 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีสินค้าคงเหลือและโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562 สูงถึง 576,406 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 6.74% จากปี 2562 ต้องใช้เวลาในการขายไม่น้อยกว่า 36 เดือน ทำให้แนวโน้มผู้ประกอบการเร่งขายโครงการเดิมแทนการเปิดโครงการใหม่”

นายประพันธุ์ศักดิ์กล่าวด้วยว่า มีบางบริษัทที่เปิดตัวโครงการใหม่ในทำเลที่มีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะโครงการแนวราบทั้งบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ ที่มีความต้องการสูง ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามรูปแบบการใช้ชีวิตในวิถีปรกติใหม่ (New Normal) ที่ต้องการพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้นตอบโจทย์การทำงานที่บ้าน(Work From Home) ที่กำลังกลายเป็นรูปแบบการทำงานรูปแบบใหม่ หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ LPN Wisdom เชื่อว่า การทำงานที่บ้านจะยังคงอยู่แม้จะไม่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้วก็ตาม

รูปสนามบินอู่ตะเภา2-728x485

วันที่ 2 มิ.ย. 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เสนอ Narita International Airport Corporation เป็นผู้บริหารสนามบิน

ได้เป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ระยะเวลา 50 ปี ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เสนอ และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับนิติบุคคลเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยเอกชนที่ได้รับคัดเลือก

โดยกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสได้รับการคัดเลือกเนื่องจากผลการประเมินข้อเสนอซองที่ 3 ด้านราคา ทางคณะกรรมการคัดเลือกโครงการพิจารณาแล้วมีมติให้กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสเป็นผู้ผ่านการประเมิน เนื่องจากเป็นผู้ที่เสนอจำนวนเงินประกันผลตอบแทนค่าเช่าและส่วนแบ่งรายได้ขั้นต่ำให้แก่รัฐดีที่สุด

ซึ่งกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ได้เสนอราคาเป็นจำนวนเงินประกันผลตอบแทนค่าเช่าและส่วนแบ่งรายได้ขั้นต่ำรายปีรวมตลอดอายุสัญญาร่วมทุน เมื่อคำนวณเป็นมูลค่าปัจจุบัน (Present Value) ณ ปี 2561 โดยใช้อัตราคิดลดร้อยละ 3.76 เท่ากับ 305,555 ล้านบาท ซึ่งคำนวณจากมูลค่าที่เป็นตัวเงิน (Nominal Value) รวมเป็นเงิน 1.326 ล้านล้านบาท

โดยเอกชนคู่สัญญาจะต้องจ่ายผลตอบแทนให้แก่รัฐรายปี แล้วแต่จำนวนใดสูงกว่า ระหว่างจำนวนเงินประกันผลตอบแทนค่าเช่าและส่วนแบ่งรายได้ขั้นต่ำ หรือจำนวนผลรวมของรายได้ที่คำนวณจากร้อยละ 5 ของรายได้ของเอกชนคู่สัญญา (ก่อนหักค่าใช้จ่าย) ค่าเช่าพื้นที่โครงการ และรายได้ของผู้ได้รับสิทธิช่วง (ก่อนหักค่าใช้จ่าย) ที่เกิดขึ้นจริง

สำหรับข้อเสนอจำนวนเงินประกันผลตอบแทนค่าเช่าและส่วนแบ่งรายได้ขั้นต่ำรายปี ของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส มีรายละเอียดดังนี้

หมายเหตุ : *เอกชนร่วมลงทุนเหมาจ่ายค่าเช่าที่ดินช่วงพัฒนาโครงการ

ขายที่ดิน-โฉนด-728x410

ธุรกิจทนพิษไวรัสโควิด-19 ไม่ไหว เทกระจาดขายกิจการ “ทุนใหญ่-เงินหนา” สบช่องไล่ช็อป “ของถูก” ในภาวะวิกฤตขาดสภาพคล่อง เผยครึ่งปีหลังสัญญาณชัดดีลซื้อขายกิจการพุ่ง กลุ่มธุรกิจโรงแรม-ท่องเที่ยวโดนก่อน ที่ปรึกษาการเงินชี้ภาคเอกชนเร่งปัดกวาดกิจการ ตัดขายธุรกิจไม่ทำกำไร หาเงินตุนสภาพคล่องประคองตัว จับตากองทุนต่างประเทศซุ่มเจรจาซื้อทรัพย์สินราคาถูก โบรกเกอร์อสังหาฯเผยผู้ประกอบการรายกลาง-เล็กแห่จำนอง-ขายฝากทั้งโรงแรม-โรงงาน-ที่ดินเปล่ายันคฤหาสน์

เร่งปัดกวาด-ตัดขายธุรกิจ

นายพรชัย ปัทมินทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บรรษัทธุรกิจและวาณิชธนกิจธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะพบว่าลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่จะมีการวางแผนการเงินจัดการด้านสภาพคล่องในรูปแบบต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็พบว่าลูกค้าธุรกิจใหญ่ขณะนี้มีการทยอยปัดกวาดธุรกิจ ตัดขายธุรกิจที่เป็น non-core หรือที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก หรือธุรกิจที่ไปไม่รอดทิ้ง

ขณะเดียวกันก็มีลูกค้ารายใหญ่บางกลุ่มที่มีสถานะการเงินที่เข้มแข็งมองหาโอกาสในการซื้อสินทรัพย์จากธุรกิจที่ไม่สามารถอยู่รอดได้ในช่วงโควิด-19 โดยเฉพาะเซ็กเตอร์โรงแรมจะเห็นชัด ทยอยออกมาปิดกิจการ (ถาวร) ซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เริ่มหันมาให้ความสนใจและมองหาโอกาสจากวิกฤตครั้งนี้ โดยจะเริ่มเห็นโอกาสซื้อ-ขายกิจการชัดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

“จังหวะนี้ทุกคนเห็นโอกาสเหมือนกัน คือปัดกวาดบ้าน ธุรกิจที่ไม่จำเป็นขายทิ้ง และมองหาโอกาสจากธุรกิจที่ตายแล้ว แต่อาจจะเริ่มเห็นภาพชัดครึ่งปีหลังเป็นต้นไป เพราะทุกคนต้องเตรียมตัวกลับมาแข็งแรงหลังโควิด-19 ผ่านการกักตุนสภาพคล่องเงินล่วงหน้าไว้”

นายพรชัยกล่าวว่า แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ไตรมาสที่ 1 ของธนาคารถือว่าเติบโตค่อนข้างดี โดยยังเห็นการเบิกใช้วงเงิน อย่างไรก็ดีอาจจะต้องรอดูไตรมาส 2 อาจจะเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้น หากลูกค้าได้รับผลกระทบธนาคารก็มีมาตรการช่วยเหลือลูกค้า เช่น พักชำระหนี้ 3-6 เดือน โดยจะพิจารณาเป็นรายกรณี ขณะที่ลูกค้ารายใหญ่ที่มีสถานะการเงินแข็งแรงที่มีแผนขยายธุรกิจไปต่างประเทศ แม้ว่าช่วงนี้จะพักไปบ้าง ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 แต่แผนธุรกิจและเป้าหมายการลงทุนในต่างประเทศยังคงเหมือนเดิม

ทุนใหญ่รอซื้อของถูก

นายเสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) กล่าวว่า ในช่วงที่เกิดวิกฤตถือเป็นเหตุการณ์ปกติที่จะมีดีลการซื้อขายหรือควบรวมกิจการ (M&A) เกิดขึ้น โดยมีอยู่ 2 ประเภท คือ 1.กิจการที่ดำเนินต่อไม่ไหว จะเห็นเทขายออกมา น่าจะได้เห็นในเร็ว ๆ นี้ และ 2.ผู้ประกอบการผิดนัดชำระหนี้ และโดนยึดหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งเป็นทรัพย์รอการขาย (NPA) ซึ่งดีลประเภทนี้จะเกิดขึ้นช้ากว่าประเภทแรกที่ธุรกิจล้มและมีการซื้อขาย

ตอนนี้ธุรกิจขนาดใหญ่ที่การเงินแข็งแรงและมีสภาพคล่องเหลือ จับตาดูสถานการณ์เพื่อรอซื้อทรัพย์สินหรือกิจการที่ได้ราคาถูกลงกว่านี้อีก ซึ่งตอนนี้เริ่มเห็นสัญญาณกิจการอ่อนแอลงและใกล้ล้ม เนื่องจากผลกระทบครั้งนี้ค่อนข้างหนักและกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรมที่น่าจะเห็นการซื้อขายกิจการก่อนธุรกิจอื่น เพราะช่วงที่ผ่านมานักท่องเที่ยวหายไปและโรงแรมส่วนใหญ่ปิดเกือบหมด ซึ่งเหลือเฉพาะเครือใหญ่ที่ยังพอไปได้เท่านั้น

“ตอนนี้เหตุการณ์ยังไม่ชัดเจนและฝุ่นตลบอยู่ หากรออีกสักพักจะได้ของราคาที่ถูกลงกว่าเดิม ซึ่งเป็นปกติที่เมื่อเกิดวิกฤตก็จะเกิดดีลซื้อขายกิจการตามมา ซึ่งหลากหลายประเภทธุรกิจ แต่คราวนี้น่าจะเห็นโรงแรมบอกขายก่อน เพราะได้รับผลกระทบหนัก”

กองทุนต่างชาติจ้องซื้อ

แหล่งข่าวสถาบันการเงินกล่าวว่า ภายใต้วิกฤตย่อมมีโอกาสสำหรับคนที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง โดยคนที่ไม่มีสภาพคล่องและได้รับผลกระทบก็จำเป็นต้องตัดขาย และคนที่มีกำลังก็ซื้อของถูก ซึ่งในไทยจะเห็นว่ามีคนที่พร้อมซื้อของถูกอยู่พอสมควร และธนาคารพาณิชย์ก็พร้อมจะอำนวยสินเชื่อและแหล่งเงินทุนให้กับคนเหล่านี้ทำให้ดีล M&A มักจะมาในช่วงที่มีวิกฤต

“ช่วงต้มยำกุ้งจะเห็นว่าองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หรือ ปรส. ที่ตัดขายพอร์ตกิจการให้ต่างชาติในราคาที่มีการ hair cut มากกว่า 50% ซึ่งครั้งนี้แม้ว่าจะไม่เหมือนต้มยำกุ้ง แต่ในวิกฤตย่อมมีโอกาสสำหรับคนมีเงินที่จะได้ซื้อของถูกหรือเปลี่ยนมือเจ้าของกิจการ”

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในครั้งนี้ก็เช่นกัน นอกจากกลุ่มทุนแข็งแรงในประเทศแล้ว ก็ยังมีพวกทุนต่างชาติที่สนใจเข้ามาซื้อทรัพย์สินราคาถูกในช่วงวิกฤต ซึ่งบรรดากองทุนต่างชาติเหล่านี้จะมีประสบการณ์ในการลงทุนซื้อทรัพย์สินหรือกิจการในช่วงวิกฤตเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดี

เร่ขายกิจการราคาถูก

นายรัฐชัย ธีระธนาวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม สายงานวาณิชธนกิจ-ด้านตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่เร่งให้เกิดดีล M&A มากขึ้น เนื่องจากมูลค่าของธุรกิจที่ทำการซื้อขายกิจการมีการปรับลดลงมาค่อนข้างถูกกว่าในภาวะปกติ ซึ่งเป็นแรงจูงใจในการทำ M&A เพื่อการลงทุนระยะยาว ซึ่งขณะนี้บริษัทก็อยู่ระหว่างทำดีลหลายราย ซึ่งส่วนใหญ่กระจายอยู่ในธุรกิจอาหาร โลจิสติกส์ และการแพทย์

“ของอยู่ดี ๆ ราคาอาจจะไม่น่าสนใจ แต่พอในสถานการณ์ไม่ปกติแบบนี้ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่สายป่านยาวไม่พอ หรือธุรกิจที่มีกระแสเงินสดไม่พอ ก็อาจจะต้องขายกิจการทิ้งดีกว่า ส่วนคนที่มีกระแสเงินสดพอ มองการทำธุรกิจระยะยาวและมีฝีมือที่จะนำธุรกิจฝ่าวิกฤตกลับมาได้ ราคาที่ลดหรือจูงใจพอ บวกกับกำลังพร้อมซื้อก็ส่งผลให้มีดีลซื้อขายกิจการเพิ่มขึ้น” นายรัฐชัยกล่าว

SMEs แห่ขายฝากเคลียร์หนี้

นพ.สมศักดิ์ มุนีพีระกุล ประธานกรรมการ บริษัท ฟอร์เบสท์ พร็อพเพอร์ตี้ส์ จำกัด บริษัทนายหน้าอสังหาริมทรัพย์รายแรก ๆ ของไทยเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจและวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบภาคธุรกิจรุนแรง แนวโน้มที่เห็นชัดคือช่วงเดือนเศษที่ผ่านมามีผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย เอสเอ็มอี ประกาศขายอสังหาริมทรัพย์ผ่านบริษัทนายหน้ามากขึ้น ในจำนวนนี้มีทั้งการประกาศขายขาด ขายฝาก และจำนอง สาเหตุที่การขายฝาก จำนองเกิดขึ้นมากในช่วงนี้เป็นเพราะเจ้าของทรัพย์สินซึ่งมีทั้งเอสเอ็มอี และรายย่อยที่ทำธุรกิจและมีปัญหาเรื่องรายได้ หนี้สิน ไม่อยากให้ทรัพย์สินหลุดมือ ต้องการไถ่ถอนการขายฝาก หรือไถ่จำนองคืน

ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ต้องการขายฝาก จำนองทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ที่ดิน อพาร์ตเมนต์ ออฟฟิศ โรงแรม ฯลฯ ส่วนใหญ่มีมูลค่าระดับ 10 ล้านบาท จนถึง 200-300 ล้านบาท เป็นผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลางที่ไม่ได้มีทรัพย์สินมาก และยังจำเป็นต้องใช้ทรัพย์สินดังกล่าว เพียงแต่มีปัญหาด้านการเงินจึงไม่มีทางเลือก อาจช่วยบรรเทาความเดือดร้อนด้านการเงินได้ภายในเวลาที่มีจำกัด

อย่างไรก็ตาม ลูกค้าไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทุน นักลงทุน ส่วนใหญ่ต้องการซื้อทรัพย์สินแบบขายฝากมากกว่าจำนอง เนื่องจากกรณีขายฝากนั้นเมื่อถึงกำหนดเวลาไถ่ถอนการขายฝากหากไม่นำเงินมาไถ่ถอนผู้ซื้อฝากจะได้ทรัพย์สินไปถือครองทันที ต่างจากการจดจำนองที่เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาจำนอง ผู้รับจำนองต้องไปฟ้องร้องยึดหลักทรัพย์ค้ำประกันอีกทอดหนึ่ง ขณะที่การฝากขายแบบขายขาดก็ยังมีเข้ามาเรื่อย ๆ แต่การขายฝาก จำนอง ที่ต้องการเงินเร่งด่วนช่วงนี้มีเข้ามามากกว่าปกติ

มีทั้งที่ดินเปล่า-ยันคฤหาสน์

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจพบว่ามีอสังหาฯทั้งในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด ประกาศขาย ขายฝาก จำนอง ผ่านบริษัทโบรกเกอร์ อาทิ โรงแรมขนาด 152 ห้อง ย่านนวมินทร์ 111 ราคาขาย 145 ล้านบาท ขายฝากโครงการทาวน์โฮม ใกล้ตลาดสดเขาขยาย บ่อวิน ศรีราชา ราคา 35% ของราคาขาย 50 ล้านบาท ขายอพาร์ตเมนต์ สุขุมวิท 107 ราคา 95 ล้านบาท ขายอาคารสำนักงาน 4 ชั้น ย่านทาวน์อินทาวน์ เนื้อที่ 139 ตร.ว. ราคา 75 ล้านบาท ขายโฮสเทล ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ 108 ตร.ว. ราคา 170 ล้านบาท ขายฝากบ้าน-ที่ดิน ย่านลาดพร้าว 107 เนื้อที่ 174 ตร.ว. 12 ล้านบาท ขายฝากที่ดินบางนา-ตราด กม. 29 เนื้อที่ 10 ไร่ 35 ล้านบาท จำนองคฤหาสน์หลังเดอะมอลล์ รามคำแหง 507 ตร.ว. 70 ล้านบาท

70-728x460-1
คอลัมน์ ดาต้าเบส

โควิด-19 พ่นพิษ Q1/63 คอนโดฯเปิดตัวติดลบ -43% บ้านลดจิ๊บๆ -13% วิกฤตเทียบเท่ายุคน้ำท่วมใหญ่ปี’54

“ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์” ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธอส. หรือ REIC เผยแพร่ผลสำรวจโครงการที่อยู่อาศัย เปิดขายใหม่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลไตรมาส 1/63 พบว่ามีจำนวน 68 โครงการ ลดลง -40.4% เทียบกับไตรมาส 1/62 โดยมีจำนวน 15,932 หน่วย ลดลง -29.6%

นับเป็นการเปิดขายโครงการใหม่น้อยที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4/54 ซึ่งเกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ซึ่งมีการเปิดขายโครงการใหม่เพียง 67 โครงการ 15,858 หน่วย

ทั้งนี้ โครงการเปิดขายใหม่ในไตรมาส 1/63 แบ่งออกเป็นอาคารชุด 23 โครงการ 7,111 หน่วย บ้านจัดสรร 45 โครงการ 8,821 หน่วย

จำนวนหน่วยอาคารชุดลดลง -42.9% ส่วนบ้านจัดสรรลดลง -13.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

เมื่อพิจารณาจากค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง (2558-2562) สถิติโครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายเฉลี่ยไตรมาสละ 116 โครงการ 28,490 หน่วย จะเห็นได้ว่าในไตรมาส 1/63 โครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเกือบครึ่ง

โดยจำนวนโครงการต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 41.4% และจำนวนหน่วยต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 44.1%

สำหรับโครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลไตรมาส 1/63 จำนวน 15,932 หน่วยนั้น เป็นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 76.6% จำนวน 12,206 หน่วย และบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ 3,726 หน่วย สัดส่วน 23.4%

โครงการของบิ๊กแบรนด์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ 12,206 หน่วย แบ่งเป็นอาคารชุด 5,016 หน่วย ลดลง -24.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่โครงการบ้านจัดสรรมี 7,190 หน่วย เพิ่มขึ้น 33.3%

ส่วนโครงการของบริษัทกลุ่ม nonlisted companies 3,726 หน่วย แบ่งเป็นอาคารชุด 2,095 หน่วย ลดลง -64.0% บ้านจัดสรร 1,631 หน่วย ลดลง -65.9%

แยกตามระดับราคาท็อป 3 ได้ดังนี้ กลุ่มราคา 2-3 ล้านบาทมีมากที่สุด 5,970 หน่วย สัดส่วน 37.5% ส่วนใหญ่เป็นทาวน์เฮาส์

กลุ่มราคา 3-5 ล้านบาท มีจำนวน 3,586 หน่วย สัดส่วน 22.5% ส่วนใหญ่เป็นทาวน์เฮาส์

และกลุ่ม 1.5-2 ล้านบาท มีจำนวน 2,035 หน่วย สัดส่วน 12.8% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาคารชุด

สำหรับคอนโดฯเปิดขายใหม่ 5 อันดับแรก จำนวน 7,111 หน่วย ได้แก่

1.โซนธนบุรี-คลองสาน-บางกอกน้อย-บางกอกใหญ่-บางพลัด มีจำนวน 1,653 หน่วย เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/62 อยู่ที่ 57.0% ส่วนใหญ่เป็นอาคารชุดตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (เตาปูน-ท่าพระ) ถนนจรัญสนิทวงศ์ ซึ่งเพิ่งเปิดให้บริการในปี 2562

2.โซนเมืองปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว-สามโคก 978 หน่วย เพิ่มขึ้นจากที่ไม่มีการเปิดขายใหม่ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

3.โซนเมืองนนทบุรี-ปากเกร็ด 921 หน่วย ลดลง -38.1%

4.โซนบางซื่อ-ดุสิต 710 หน่วย เพิ่มขึ้น 46.1%

และ 5.โซนสุขุมวิท เปิดขายใหม่ 609 หน่วย ลดลง -68.1%

ส่วนท็อป 5 บ้านจัดสรรเปิดขายใหม่ 8,821 หน่วย มีดังนี้

1.โซนเมืองปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว-สามโคก มีจำนวน 1,976 หน่วย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งไม่มีโครงการเปิดขายใหม่เลย

2.โซนหลักสี่-ดอนเมือง-สายไหม-บางเขน 1,087 หน่วย เพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีการเปิดขายใหม่เพียง 330 หน่วย

3.โซนบางพลี-บางบ่อ-บางเสาธง มีจำนวน 923 หน่วย เพิ่มขึ้น 13.8%

4.โซนคลองสามวา-มีนบุรี-หนองจอก-ลาดกระบัง 874 หน่วย ลดลง -2.6%

และ 5.โซนลำลูกกา-คลองหลวง-ธัญบุรี-หนองเสือ มีจำนวน 715 หน่วย ลดลง -31.8%

BANGKOK, THAILAND - MARCH 21: A general view from a skyscrape on March 23, 2020 in Bangkok, Thailand. Coronavirus (Covid-19) has spread to at least 182 countries, claiming over 15,000 lives and infecting almost 360,000. There have now been 721 diagnosed cases in Thailand and one death. (Photo by Tim de Waele/Getty Images)

ไตรมาส 1/63 มิสชั่นคนทั้งประเทศมีเรื่องเดียว #ประเทศไทยต้องชนะอาจกล่าวได้ว่าดีเวลอปเปอร์ยังไม่ทันหายกลุ้มใจกับมาตรการ LTV-loan to value (แบงก์ชาติบังคับเงินดาวน์แพงในการขอสินเชื่อซื้อบ้าน-คอนโดมิเนียมหลังที่ 2 เป็นต้นไป) นาทีนี้โรคระบาดสายพันธุ์ใหม่ไวรัสโควิด-19 ทำให้กลุ้มหนักกว่าเดิมเข้าไปอีก

โดยสำนักวิจัยอสังหาริมทรัพย์อย่างน้อย 3 ค่ายเทน้ำหนัก ว่า ปี 2563 ธุรกิจที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มเป็นเส้นกราฟขาลง และไม่ใช่ลงแบบซอฟต์แลนดิ้งอีกต่างหาก

เริ่มจาก “ดร.โสภณ พรโชคชัย” ประธานกรรมการ AREA-เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ประเมินว่า ปี 2563 ดูอาการจากช่วง 2 เดือนแรกของปี (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2563) แล้วพยากรณ์ทั้งปีคาดว่าภาพรวมตลาดน่าจะติดลบ 15-20%

เป็นการมองขั้วกลับด้าน จากเดิมที่มีการประเมินไว้เมื่อช่วงปลายปี 2562 ว่าธุรกิจอสังหาฯปี 2563 น่าจะกลับมาบวกได้ 5-10%

สำหรับคนชอบตัวเลข หากคำนวณคาดการณ์เดิมว่าตลาดโต 5% แต่เจอโควิด-19 พ่นพิษใส่จนระบมไปทั้งแผ่นดินแล้วคาดการณ์ใหม่มีตัวเลข -15% นั่นหมายความว่า ปีนี้ตลาดผันผวนหนักถึง 20% เป็นอย่างต่ำ

ถัดมา “ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์” รักษาการผู้อำนวยการ REIC-ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ระบุว่า ณ ปี 2562 หน่วยเหลือขายทั่วประเทศรวมกันเพิ่ม 10% อยู่ที่ 3 แสนหน่วย บนสถานการณ์โครงการเปิดใหม่ลดลง -20% เพราะเจอผลกระทบจาก LTV

มีหน่วยเหลือขายสร้างเสร็จพร้อมอยู่ 6.8 หมื่นหน่วย แบ่งเป็นคอนโดฯเพียง 3 หมื่นหน่วย เพิ่มขึ้นไม่น่าตกใจแค่ 2% แต่ไปเพิ่มความตกใจให้กับสินค้าแนวราบ (บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์) ที่เพิ่มถึง 21% ที่ 3.8 หมื่นหน่วย

คาดการณ์เต็มปีของ REIC มองว่ามีโอกาสที่ปี 2563 ภาคอสังหาฯจะถดถอยกลับไปในยุค 5 ปีก่อนหน้า โดยประเมินว่าโควิดจะทำให้หน่วยโอนลดลง -11% ถึง -17% ที่ 3.12-3.33 แสนหน่วย มูลค่าลดลง -13.8% ถึง -17.1% คิดเป็นมูลค่าโอน 7.26-7.55 แสนล้านบาท

เป็นการพยากรณ์บนตัวช่วยจากมาตรการรัฐยกเว้นค่าโอน-จำนองจากล้านละ 3% เหลือ 0.01% หรือจากล้านละ 30,000 บาท เหลือล้านละ 300 บาท สำหรับที่อยู่อาศัยเพดานราคา 3 ล้านบาท ซึ่งจะหมดอายุ 24 ธันวาคม 2563 ไว้เรียบร้อยแล้ว

อีกราย “ภัทรชัย ทวีวงศ์” ผู้ช่วยผู้อำนวยการวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุว่า ไตรมาส 1/63 มีคอนโดฯเปิดใหม่แค่ 16 โครงการ 5,880 หน่วย ต่ำสุดในรอบ 8 ปี หรือ 32 ไตรมาส

ส่วนอัตราขายหรือยอดขายถลำลึกยิ่งกว่า โดยมีอัตราขายเฉลี่ย 31% เท่านั้น ต่ำสุดในรอบ 10 ปี หรือถอยหลังกลับไป 40 ไตรมาส

อย่างไรก็ตาม The show must go on เพราะกาลเวลาเพิ่งผ่านพ้นเพียง 1 ไตรมาส หรือเพียง 3 เดือนเท่านั้น

ชีวิตจริงของดีเวลอปเปอร์ปี 2563 ยังมีเวลาเหลืออีกถึง 9 เดือนที่จะต้องฝ่าด่านสารพัดปัจจัยลบ

น่าสนใจว่าปีนี้ยังมีทีเด็ดอะไรอีกบ้าง…นอกเหนือจากท่องคาถาอึด อึด และอึด

#save ดีเวลอปเปอร์ #ประเทศไทยต้องชนะ

SENA ZERO COVID

เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์
รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์

สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดทั่วโลกและมีอัตราการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ณ ขณะนี้ ทางเสนาฯ ได้มีการติดตามและเฝ้าดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ที่ผ่านมาร่วมกับบริษัท วิคตอรี่ แมเนจเม้นท์ เซอร์วิส จำกัด บริษัทลูกบริหารงานนิติบุคคล มีการวางแผนรับมือสถานการณ์โควิด-19 เพื่อป้องกันและควบคุมวิกฤตที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ภายใต้มาตรการ “SENA ZERO COVID” เพื่อช่วยเหลือลูกค้าทางการเงินและสร้างความปลอดภัย

SENA ZERO COVID เราโฟกัสดูแล 3 กลุ่มลูกค้าคือ ลูกค้าจอง-ลูกค้าใหม่-ลูกบ้าน

“ลูกค้าจอง” ไม่ใช่เพิ่งเริ่มจอง แต่เป็นลูกค้าอยู่ระหว่างผ่อนดาวน์ใกล้จะโอน สภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว หลายคนประสบปัญหาแตกต่างกันออกไป เสนาฯเข้าใจพร้อมช่วยเหลือและเตรียมการซัพพอร์ตลูกค้าในทุกกรณี สามารถติดต่อได้ที่เจ้าหน้าที่ของแต่ละโครงการ

“ลูกค้าใหม่” สำหรับผู้บริโภคที่มีความต้องการซื้อโครงการของเสนาฯในช่วงนี้ เราพร้อมให้ความช่วยเหลือลูกค้าและแบ่งเบาภาระทางการเงินด้วยการจัด personalizes promotion ดูแลลูกค้าทุกรูปแบบตลอดช่วงสถานการณ์โควิด-19

พร้อมเพิ่มช่องทางการตลาดจองผ่าน online ทุกช่องทาง ไม่ว่าเป็น line, live, streaming และ online booking มอบ special promotion รับส่วนลด on top สูงสุด 1 แสน

และ “ลูกบ้าน” ที่ผ่านมาบริษัท วิคตอรี่ฯได้มีมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้แก่ลูกบ้าน และพนักงานตามโครงการอย่างใกล้ชิด มีการแจกหน้ากากอนามัย ติดตั้งจุดวางเจลล้างมือ ทำความสะอาดพื้นที่ส่วนกลางทั้งหมด และทุกจุดรอบโครงการ เช่น ประตูเข้า-ออก, ปุ่มกดลิฟต์, อุปกรณ์ออกกำลังกาย, ทางเดินส่วนกลาง และการตรวจวัดอุณหภูมิทุกคนที่เข้ามาในโครงการ

รวมถึงทำป้ายตารางทำความสะอาดในจุดสำคัญต่าง ๆ โดยระบุว่า “ตารางทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ” นอกจากนี้ มาตรการดูแลในกรณีที่ลูกบ้านอยู่ในกลุ่มเสี่ยง (ต้องกักตัว 14 วัน) เรามีบริการ “SENA ZERO COVID SERVICE” อำนวยความสะดวกช่วยลูกบ้านซื้อของและคอยสอบถามหากต้องการความช่วยเหลือในระหว่างกักตัว

และ “SENA ZERO COVID HOTLINE” สายด่วนพาลูกบ้านไปโรงพยาบาลในกรณีที่มีไข้หรือสงสัยว่ามีความเสี่ยง เป็นต้น

นอกจากนี้ ภายในบริษัท เสนาฯมีการจัดตั้งทีมเฉพาะกิจศูนย์ปฏิบัติการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ BCP-business continuity plan เพื่อกำกับดูแลและติดตามสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ให้พนักงานได้รับทราบเป็นข้อมูล พร้อมเฝ้าระวังและติดตามสอบถามอาการของพนักงานที่มีความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระยะเวลาที่กำหนด และแจ้งข้อมูลการเจ็บป่วยและช่วยเหลือพนักงานที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19

รวมถึงประสานกับกลุ่มงานที่ได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติหน้าที่ ณ สถานที่ที่บริษัทกำหนด

“เราจะสู้ไปด้วยกัน จนกว่าจะเป็นซีโร่โควิด”

RML ชูโมเดลซื้อคอนโดฯลงทุน

ไลโอเนล ลี
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไรมอน แลนด์ หรือ RML

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ท่ามกลางภาพรวมของภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัว และตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2563 มีปัจจัยที่ส่งผลกระทบในทางลบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ในระยะสั้นถึงระยะกลาง

RML มีการปรับกลยุทธ์รับมือผลกระทบโควิด-19 ด้วยการเน้นทำการตลาดเชิงรุกสร้างโอกาสการเติบโตในธุรกิจหลักตอบรับสถานการณ์ในปัจจุบัน

บิสซิเนสโมเดลยังยืนยันบริษัทออกโปรดักต์สำหรับการลงทุนในคอนโดฯเพื่อปล่อยเช่า จุดแข็งเรามีคอนโดมิเนียมบนทำเลใจกลางเมือง อาทิ เดอะ ลอฟท์ อโศก, เดอะ ดิโพลแมท 39, เดอะ ดิโพลแมท สาทร บริหารงานโดย Klapsons The River Residences Bangkok และบริษัท อสังหา เรียลตี้ บริษัทย่อยของ RML คาดว่าจะได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากนักลงทุน

การปรับตัวตามสถานการณ์เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลไทย RML วางแผนส่งเสริมการขายผ่านช่องทางออนไลน์ด้วยกลยุทธ์ O2O-online to offline เพื่อให้ลูกค้าสามารถรับชมโครงการทางออนไลน์ก่อนตัดสินใจเข้าชมโครงการจริง เพื่อกระตุ้นความต้องการซื้อและเข้าถึงลูกค้าโดยตรง

ช่องทางออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เป็นช่องทางที่สามารถสร้างความปลอดภัยด้านสุขภาพให้กับลูกค้าอีกด้วย ซึ่งคาดว่าจะสามารถผลักดันยอดขายโครงการได้เพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ปีนี้บริษัทวางแผนเปิดคอนโดมิเนียม 1 โครงการบนถนนสุขุมวิทซอย 38 เป็นโครงการร่วมทุนโครงการที่สามกับพันธมิตรโตเกียว ทาเทโมโนะ ประเทศญี่ปุ่น

ด้านธุรกิจ recurring income ซึ่งเรามีธุรกิจร้านอาหารและโรงแรม ต้องยอมรับว่าได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เต็ม ๆ จึงเลื่อนเปิดตัวโรงแรม HOTEL KITCH จากเดิมวางแผนเปิดตัวในเดือนเมษายน 2563 ต้องขยับไปเปิดตัวในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 แทน

โมเดลลงทุน HOTEL KITCH เป็นคอนเซ็ปต์ใหม่และบริหารโรงแรมด้วยตนเอง มีเพียง 72 ห้องพัก ควบคู่กับวางแผนเปิดตัวโรงแรมใหม่อีก 1 แห่งขนาด 300 ห้องในย่านสุขุมวิท เน้นคอนเซ็ปต์ทันสมัย เทคโนโลยีเน้น ๆ

ส่วนธุรกิจ F&B-อาหารและเครื่องดื่ม ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการวางแผนในการวางกลยุทธ์ใหม่ของร้านอาหารบ้านหญิง และกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมทุนกับพันธมิตรธุรกิจรายใหม่ ๆ ด้วย

ในด้านตัวเลขขอพูดถึงสักเล็กน้อย RML มีแบ็กล็อกหรือยอดขายรอโอน ณ สิ้นปี 2562 มูลค่ารวม 8,010 ล้านบาท ทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป

แผนธุรกิจปีนี้จะมียอดโอนส่วนใหญ่มาจากโครงการ The Lofts Silom ปัจจุบันมียอดขายแล้ว 80% ลูกค้าสามารถโอนได้ตั้งแต่ต้นปีนี้เป็นต้นไป

RML ยังยืนยันเดินหน้าลงทุนและโฟกัสกลยุทธ์การตลาดในการสร้างแบรนด์เพื่อขยายฐานลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ รอจังหวะโควิดสงบเราพร้อมเดินหน้าการลงทุนได้ทันที

บุ๊กกิ้งออนไลน์ Ananda iStore

ชานนท์ เรืองกฤตยา
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์

โควิด-19 ทำให้ทุกคนต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น คนส่วนใหญ่เลือกอยู่กับบ้าน ไม่ออกไปไหน รวมถึงลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้าเยี่ยมชมโครงการได้ในภาวะสถานการณ์ตอนนี้

อนันดาฯปรับแผนรับมือโดยเปิดช่องทางการขายผ่านออนไลน์บุ๊กกิ้ง “Ananda iStore” ให้ลูกค้าช็อปซื้อได้ทั้งบ้านและคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นกลยุทธ์การตลาดเพื่อผลักดันยอดขายในช่วงนี้

สินค้าพร้อมอยู่ของอนันดาฯ มั่นใจว่าตอบโจทย์ลูกค้าเป้าหมายได้ทุกกลุ่ม ทุกเซ็กเมนต์ ภายใต้แบรนด์หลักแบ่งเป็นสินค้าคอนโดฯ แอชตัน, ไอดีโอ คิว, ไอดีโอ โมบิ, ไอดีโอ, เอลลิโอ,เวนิโอ และยูนิโอ

สินค้าแนวราบโครงการบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์แบรนด์อาร์เทล, แอริ, เอโทล และยูนิโอ ทาวน์

ทั้งนี้ ทั้งนั้น Ananda iStoe เรานำเสนอผ่าน 3 ช่องทางออนไลน์ ประกอบด้วย

1.ANANDA ONLINE BOOKING เป็นการย้าย sales gallery มาไว้บนแพลตฟอร์มออนไลน์ จองง่ายมากไม่กี่ขั้นตอน ลงทะเบียน เลือกโครงการ เลือกแปลงห้อง จอง ยืนยันและชำระเงินได้ทั้งบัตรเครดิต บัตรเดบิตทุกธนาคาร

2.FACEBOOK ANANDA DEVELOPMENT การเปิด FACEBOOK SHOP ที่พร้อมตอบทุกแชตผ่าน FACEBOOK MESSENGER

3.LINE OA “CHAT & SHOP” เปิดช่องทางใหม่แบบ exclusive กับแชต 1 ต่อ 1 พร้อมบริการผู้ช่วยส่วนตัว สอบถามและพูดคุยตรงกับเซลส์ได้ทุกโครงการ

และเตรียมพบ LINE MY SHOP ช็อปผ่าน LINE OA ทุกช่องทาง 24 ชม. ครั้งแรกเร็ว ๆ นี้

สำหรับโปรโมชั่นที่เราลอนช์ในไตรมาส 2/63 เพิ่มเป็นเพื่อนกับอนันดาฯ รับข้อเสนอพิเศษจองเริ่มต้น 999 บาท, ส่วนลดสูงสุด 3.9 ล้านบาท เป็นต้น

ในส่วนของสำนักงานขายยังเปิดให้เข้าชมโครงการได้ตามปกติ พร้อมมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ลูกค้าและพนักงานอนันดาฯมั่นใจว่าปลอดภัยและสะอาดทุกกระเบียดนิ้ว

สิงห์รณรงค์แยกขยะหน้ากากอนามัยใช้แล้ว

นริศ เชยกลิ่น
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สิงห์ เอสเตท

แม้จะเป็นเพียงมุมเล็ก ๆ แต่เราก็ให้ความสำคัญ เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสโควิด-19 มีหลากหลายมิติ โดยเฉพาะปัญหาขยะ สิงห์ เอสเตท ในฐานะบริษัทที่ให้ความสำคัญและรณรงค์เกี่ยวกับการจัดการขยะมาอย่างต่อเนื่อง มีความห่วงใยเกี่ยวกับแนวโน้มการเกิดปัญหาขยะจำนวนมากที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมา

จึงอยากขอเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยรณรงค์การปรับพฤติกรรมเพื่อลดโอกาสการเกิดวิกฤตขยะติดเชื้อในอนาคต โดยสิงห์ เอสเตท ได้นำร่องจัดตั้งถังขยะอันตรายสำหรับทิ้งหน้ากากอนามัย บริเวณทางเข้าออกทุกชั้นของสำนักงานใหญ่ อาคารซันทาวเวอร์ส และมีแผนตั้งถังขยะอันตรายที่อาคารสำนักงานทุกแห่งของบริษัทในอนาคต

นอกจากนี้ ยังมีการอบรมพนักงานแม่บ้านในการแยกถุงขยะและทำสัญลักษณ์ขยะติดเชื้อให้ชัดเจน ก่อนนำส่งให้กับเจ้าหน้าที่เก็บขยะของทาง กทม. เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป

ทั้งนี้ บริษัทคำนึงว่าในภาวะการเกิดโรคระบาดเช่นนี้ ขยะติดเชื้อ เป็นสิ่งที่ควรระมัดระวังในการทิ้งให้ถูกที่ เพราะเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโรค ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (surgical mask) และกระดาษชำระ อยู่ในกลุ่มขยะที่มีโอกาสติดเชื้อสูง

ดังนั้นควรพับตัวหน้ากากที่มีฝอยละอองไว้ด้านในและต้องมีการแยกทิ้งในถังขยะเฉพาะ คือถังขยะติดเชื้อ โดยถุงขยะที่ใส่ควรเป็นถุงใสเพื่อให้เห็นขยะภายในชัดเจน ถ้าเป็นถุงทึบหรือถุงดำควรมีการเขียนให้ชัดเจนว่าขยะติดเชื้อ เพื่อความปลอดภัยต่อเจ้าหน้าที่จัดเก็บขยะ

สิ่งเหล่านี้ถ้าไม่มีการกำจัดที่ถูกต้อง นอกจากจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่นแล้ว ขยะเหล่านี้อาจหลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อมและจบลงที่ท้องทะเล และเป็นภัยต่อธรรมชาติ

นอกจากขยะติดเชื้อแล้ว การใช้ชีวิตประจำวันของเราทุกคนช่วงนี้ สามารถสร้างขยะจำนวนมากได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการลดการสร้างขยะใหม่ด้วยการเลือกซื้อเลือกใช้ของที่จะกลายมาเป็นขยะใหม่ให้น้อยที่สุด

แต่หากจำเป็นก็ควรเลือกทิ้งให้ถูกประเภท เพื่อที่จะง่ายต่อการนำไปเข้ากระบวนการกำจัดขยะที่ถูกต้อง รวมไปถึงขยะบางประเภทที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ก็จะเป็นการลดจำนวนขยะที่ต้องกำจัดทิ้งไปได้

แอสเซทไวส์ทำแผนคอนเซอร์เวทีฟตั้งแต่ต้นปี

กรมเชษฐ์ วิพันธ์พงษ์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด

แผนธุรกิจตอนนี้ก็มุ่งเน้นกับคอนโดฯที่พร้อมอยู่ เราก็มีคอนโดฯที่เสร็จแล้วอีกหลายตัวก็กำลังจะเริ่มเสร็จ ส่วนสินค้าใหม่วางแผนไว้ 3-4 โครงการ มูลค่ารวม 6,000 ล้านบาท ถ้าโควิด-19 จบก็คงจะเปิด ดูสถานการณ์ก่อน ระหว่างนี้ก็ทำสำนักงานขาย เตรียมการตลาดไว้ รอว่าโควิด-19 จะหายเมื่อไร

เท่าที่คิดไว้ถ้ากลับมาเปิดตัวโครงการใหม่ได้ภายในไตรมาส 3/63 ก็น่าจะเปิดสัก 2-3 โครงการได้ แต่ถ้าสถานการณ์โครงการใหม่เปิดตัวได้ในไตรมาส 4/63 ก็อาจจะเปิดตัวใหม่เหลือ 1-2 โครงการ หลัก ๆ คิดก่อนจะมีโควิด เฉลี่ยเราเปิดไตรมาสละ 1 โครงการ มูลค่าตั้งแต่ 500-2,000 ล้าน

ตามแผนเดิม 4 โครงการใหม่มี 1 แนวราบเป็นบูติคทาวน์โฮมแบรนด์ใหม่ “ปุริ ปุริ” ราคา 5-10 ล้าน กับ 3 คอนโดฯ แบรนด์ซีรีส์โมดิซหมดเลย ซึ่งตั้งแต่ปีที่แล้วห้องชุดราคาบวกลบ 2 ล้านขายดีมาก เฉลี่ยทำโครงการละ 300-800 ยูนิตกำลังดี

ก่อนมีโควิดเราตั้งเป้ายอดขาย 4,000 ล้าน เป้ารับรู้รายได้ 3,500 ล้าน จบไปแล้ว 1 ไตรมาสเรายังมองใกล้เคียงเดิมอยู่ เพราะเป้ารับรู้รายได้ 3,500 ล้าน ในขณะที่รวมของเก่าของใหม่สร้างแล้วเสร็จมี 4,600 ล้าน ฉะนั้น จึงถือเป็นเป้าที่คอนเซอร์เวทีฟแล้ว

อย่าลืมว่าก่อนมีโควิดอสังหาฯเจอสถานการณ์ LTV-loan to value ปีนี้เราจึงตั้งเป้าคอนเซอร์เวทีฟตั้งแต่ต้นปี พอมาเจอโควิด-19 ก็เหมือนกับแอสเซทไวส์ไม่ได้ตั้งเป้าสูงอยู่แล้ว ผมมองว่าผลกระทบโควิดต้องอีก 1-2 เดือนมาอัพเดตกันอีกทีหนึ่ง เพราะตอนนี้ก็ยังคิดว่ามันอาจจะจบใน Q2 และ Q3-Q4 ก็กลับมาโอนได้

กลยุทธ์เราเน้นเจาะลูกค้า 3 กลุ่มหลัก หนึ่งในนั้นมีแคมปัสคอนโด แม้จะมีโควิดแต่สำนักงานขายก็ยังมีคนไปจองซื้อทุกอาทิตย์ ขณะเดียวกัน คนเขากลัวโรคติดต่อไม่ค่อยออกจากบ้านไปไหนมาไหน ทำให้ลูกค้าวอล์กอินน้อยลง เราก็ปรับไปขายออนไลน์แทน มีการปิดยอดขายออนไลน์ทดแทน สถิติลูกค้าออนไลน์เพิ่ม 30%

ลูกค้าไม่ว่าจะมาทางช่องทางไหนเราจะมีกลุ่ม Line add ให้ส่งข้อมูลหรือสอบถามข้อมูลจากเซลส์ แล้วก็ปรับใช้กลยุทธ์ทางออนไลน์รวมไปถึงตอนจะโอนด้วย ตอนนี้เรามีระบบ fin plus สามารถที่จะส่งแอปพลิเคชั่นในการรับรู้เงินกู้ เอกสารต่าง ๆ ทางออนไลน์ไม่ต้องมายื่นที่ไซต์โครงการ เราส่งให้ธนาคารและแอปพรูฟทางออนไลน์ได้เลย

ช่องทางออฟไลน์ตอนนี้เราเปิดอยู่ สำนักงานขายห้องตัวอย่างไม่ได้ปิด แต่เน้นดูแลเรื่องความปลอดภัยอย่างสูง ไม่ว่าจะเป็นการตรวจอุณหภูมิและแอลกอฮอล์ มีเรื่องความสะอาดความปลอดภัยที่ดูแล

วันสุดท้ายของไตรมาส 1/63 ยอดขายเราแม้ไม่ตรงตามเป้าแต่ก็ไม่ได้ตกเป้ามากมาย 10% กว่าเท่านั้น เราทำได้ 86% จากเป้า ในขณะที่มีแบ็กล็อก (ยอดขายรอโอน) 7,400 ล้านบาท

ที่ผ่านมาคนตกใจและคิดว่าโควิด-19 จะเป็นผลกระทบระยะสั้น แต่ตอนนี้ทุกคนรู้แล้วว่าน่าจะเป็นระยะยาวหน่อย ก็มีการปรับแผนว่าถ้ามันยาว 6 เดือนจะเป็นอย่างไร 9 เดือนจะเป็นอย่างไร เราวางแผนกันแบบนั้น

เพอร์เฟคทำ Pop up Store 20 โปรเจ็กต์

วงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต
กรรมการผู้จัดการ บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค

ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รัฐบาลขอความร่วมมือให้ประชาชนอยู่ในบ้านเพื่อลดการแพร่กระจายของโรค เรามี “เพอร์เฟค แฟมิลี่ คลับ” อำนวยความสะดวกให้แก่ลูกบ้านในโครงการของพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงโครงการ

โดยจัดสรรพื้นที่ภายในอาคารสโมสรและพื้นที่ส่วนกลางใน 20 โครงการ เป็นจุดจำหน่ายสินค้าเคลื่อนที่หรือ pop up store และจุดรับสินค้าสั่งซื้อล่วงหน้า เพื่ออำนวยความสะดวกในการเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ลดความหนาแน่นในการไปจับจ่ายในห้างสรรพสินค้า และแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้วยสินค้าราคาพิเศษ ดำเนินการโดย “ออลล์ดี” ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกราคาประหยัด

รูปแบบออลล์ดี เราคัดสินค้าคุณภาพในกลุ่มสินค้าที่จำเป็นในการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาร น้ำดื่ม อาหารสำเร็จรูปและปรุงอาหาร ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในครัวเรือน ผลิตภัณฑ์ซักผ้า สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม อุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 เช่น เจลล้างมือและสินค้าอื่น ๆ รวมกว่า 100 รายการ มาจำหน่ายในราคาพิเศษ

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สามารถกระจายการเข้าถึงสินค้าจำเป็น จึงมีจำนวนจำกัดต่อวัน และมีสินค้ามาสลับสับเปลี่ยนให้ตรงตามความต้องการของผู้ซื้อ

นอกเหนือจากร้านค้าเคลื่อนที่ใน 20 โครงการแล้ว เพอร์เฟควางแผนเพิ่มจุดรับสินค้าในโครงการอื่น ๆ โดยให้สามารถสั่งซื้อทางออนไลน์ แล้วเลือกรับสินค้าที่จุดรับสินค้าในโครงการต่าง ๆ ใกล้บ้านได้ โดยไม่มีค่าจัดส่ง

ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดร้านค้าและสั่งซื้อสินค้าได้ที่ www.alldshop.com ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ศุภาลัยยืดดาวน์ 3-6 เดือน

ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม
กรรมการผู้จัดการ บมจ.ศุภาลัย

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ศุภาลัยจึงเร่งออกมาตรการพักชำระค่างวดผ่อนดาวน์ 3 เดือน (3 งวด) สำหรับลูกค้าในสายอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด อาทิ ลูกค้าที่มีอาชีพในกลุ่มสายการบิน โรงแรม ฯลฯ

เงื่อนไขลูกค้าที่ขอรับสิทธิจะต้องอยู่ในระหว่างการผ่อนชำระเงินดาวน์กับบริษัท ทั้งบ้านและคอนโดมิเนียม ในโครงการศุภาลัยทั่วประเทศ

ทั้งนี้ทั้งนั้น จำนวนเงินที่ยืดเวลาผ่อนดาวน์ 3 งวดดังกล่าวจะนำไปรวมชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์

สำหรับลูกค้าที่มีความประสงค์จะรับสิทธิพักชำระค่างวดสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้-31 พฤษภาคม 2563 ที่ www.supalai.com/covid19support หรือที่สำนักงานขายโครงการ หรือติดต่อสายด่วน โทร.1720

นอกเหนือจากมาตรการพักชำระค่าดาวน์ 3 เดือน ศุภาลัยยังได้เตรียมความพร้อม โดยจัดทำแผนสำรองสำหรับวิกฤตการณ์ทุกระดับ เพื่อให้ธุรกิจดำเนินได้อย่างต่อเนื่อง

และกำหนดมาตรการความปลอดภัยด้านชีวอนามัยอย่างเข้มงวด ทั้งอาคารสำนักงานใหญ่ ศุภาลัย แกรนด์ ทาวเวอร์ และ site งานศุภาลัยทั่วประเทศ อาทิ การกำหนดมาตรการทำความสะอาดพื้นที่ภายในอาคารด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ติดตั้งเจลล้างมือ เพื่อความปลอดภัยและมั่นใจของลูกค้า รวมทั้งผู้มาติดต่อกับบริษัท

ชาวศุภาลัยมีความห่วงใยสังคม และตระหนักถึงความปลอดภัยของลูกค้าทุกโครงการและประชาชน จึงขอเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ปฏิบัติหน้าที่ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องทุกท่าน ให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปอย่างราบรื่นและปลอดภัย

สถาพรแจกประกันภัยโควิด-19

สุนทร สถาพร
กรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาพร เอสเตท จำกัด

บริษัทตระหนักถึงความปลอดภัยลูกค้าในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย และเพื่อเป็นการตอบสนองนโยบายภาครัฐเรื่อง social distancing จึงได้ใช้กลยุทธ์การตลาดผ่านการขายออนไลน์ทุกช่องทาง

โดยเปิดโอกาสให้ลูกค้าที่สนใจโครงการสามารถติดต่อซื้อขายผ่านทาง VDO call วิธีการนัดหมายออนไลน์กับเจ้าหน้าที่ซึ่งจะให้บริการเป็นประจำทุกวัน

ขณะเดียวกันในส่วนของการรับชมโครงการ ลูกค้าสามารถชมโครงการโดยไม่ต้องมาวิสิตไซต์ด้วยตนเอง เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 และช่วยป้องกันการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้เพื่อร่วมสร้างความมั่นใจในสุขภาพให้กับลูกค้าในช่วงภาวะการระบาด เราได้เพิ่มความพิเศษให้กับลูกค้า มีเพียงเงื่อนไขจองซื้อภายใน 30 เมษายนนี้จะได้รับประกันภัยไวรัสโควิด-19 ทันที

นอกจากนี้ อย่างที่ทราบกันดีว่าไตรมาส 1/63 มีการแข่งขันระบายสต๊อกทั้งของใหม่ของเก่าอย่างรุนแรง และเป็นเทรนด์หลักการแข่งขันในไตรมาส 2/63 ด้วย ในส่วนของสถาพร เอสเตทเราจัดโปรโมชั่นเพิ่มเติมสำหรับลูกค้าที่มีกำลังซื้อให้รีบตัดสินใจ

เรามีโครงการไฮไลต์คอนโดมิเนียม “เดอะ เชดด์ สาทร 1” จุดขายเราสามารถตั้งราคาถูกกว่าราคาตลาดด้วยราคาเริ่มต้น 1.3 แสนบาท/ตารางเมตรเท่านั้น ทำเลโดดเด่นมากเพราะอยู่ในซอยสาทร 1

นอกจากนี้ยังมีโปรโมชั่นออนท็อป รับส่วนลดสูงสุดอีก 3 แสน แถมไลฟ์สไตล์แก็ดเจตสุดอินเทรนด์ (Apple Gadgets) มูลค่าสูงสุด 80,000 บาท

สถาพรเรามีความเชี่ยวชาญสินค้าแนวราบ ล่าสุดเพิ่งเปิดตัวทาวน์โฮมแบรนด์ใหม่ “อิเธอร์นิตี้ ทาวน์ พริมโรส วัชรพล” ลูกค้าทำสัญญา 0 บาท อยู่ฟรี 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

QR Code LINE@ Prachachat

ไม่พลาดข่าวสำคัญ เจาะลึกทุกประเด็น
เพิ่มเราเป็นเพื่อนทาง @prachachat

ติดตามข่าวธุรกิจ

Residential buildings stand at Sansiri Pcl's T77 gated community in Bangkok, Thailand, on Tuesday, Sept. 17, 2019. Thailands ubiquitous tuk-tuk is getting a cutting-edge makeover to help carry the local auto industry into the future. Beginning in November, a public-private partnership will test the nations first self-driving tuk-tuk in an effort to nudge Thailand toward the forefront of developing autonomous-vehicle technology in Southeast Asia. Photographer: Nicolas Axelrod/Bloomberg via Getty Images

ไตรมาส 2/63 ธุรกิจที่อยู่อาศัยรับผลกระทบโควิด-19 เต็ม ๆ ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ คาดการณ์ยอดโอนถลำลึกเหลือไม่เกิน 7 หมื่นล้านลดไม่ต่ำกว่า -10% จากไตรมาส 1/63 จัดสรรท่องคาถาเอาตัวรอดแข่งโปรฯ ระบายสต๊อก อยู่ฟรี 1-3 ปี ตลาดแมสอัดส่วนลด 5 แสน-1 ล้านแนะนำเพื่อนซื้อรับค่าคอม 3% สินเชื่อมีเงินทอนฟื้นชีพกู้แล้วรับเงินตุงกระเป๋า 4 แสน-2 ล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์โควิด-19 ระบาดในไทยส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่อยู่อาศัยอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนจากยอดโอนกรรมสิทธิ์ไตรมาส 1/63 ติดลบ -11% ในขณะที่แนวโน้มไตรมาส 2/63 คาดว่าจะถลำลึกมากกว่าไตรมาสแรก โดยคาดว่าติดลบเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า -10% ขึ้นไป

Q2 โอนไม่เกิน 7 หมื่นล้าน

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธอส. หรือ REIC เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า base case คาดการณ์ยอดโอนกรรมสิทธิ์ปี 2563 อยู่ที่ 311,00 หน่วย ต่ำสุดในรอบ 5 ปี (2558-2562) แต่ใกล้เคียงกับปี 2560 ซึ่งมีการโอน 315,000 หน่วย ส่วนมูลค่าโอนปกติมีค่าเฉลี่ยปีละ 767,000 ล้านบาท คาดว่าปีนี้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเหลือ 726,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ถ้าสถานการณ์โควิด-19 จบเร็วกว่าที่คาด จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวเร็ว สถิติการโอนอาจเพิ่มได้ 10% ขึ้นไป

สำหรับคาดการณ์รายไตรมาสพบว่า เฉลี่ยมีมูลค่าการโอนไตรมาสละ 87,000 ล้านบาท คาดว่าไตรมาส 1/63 ลดเหลือ 77,000 ล้านบาท ในขณะที่คาดการณ์ไตรมาส 2/63 เหลือ 70,000 ล้านบาท หรือยอดโอนน่าจะลดลงอีก

แนะเลื่อน LTV เปิดทางกู้คล่อง

“หากเปรียบเทียบกับไตรมาส 2/62 ที่เริ่มบังคับใช้มาตรการ LTV-loan to value (แบงก์ชาติบังคับการเงินดาวน์ 20% ในการขอสินเชื่อซื้อบ้าน-คอนโดมิเนียมหลังที่ 2 เป็นต้นไป) แต่ยังมียอดโอนที่ 77,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้น เทรนด์การโอนไตรมาส 2/63 จึงอยู่ในภาวะรับผลกระทบค่อนข้างมาก”

ดังนั้น ข้อเสนอแนะ คือ ควรมีการชะลอการใช้ LTV ออกไปก่อน จนกว่าวิกฤตเศรษฐกิจปีนี้จะคลี่คลายลง อย่างน้อยที่สุดให้เริ่มนำกลับมาใช้ใหม่ในปี 2564 แทน

“ทั้ง LTV และโควิด-19 ทำให้ผู้ซื้อนักเก็งกำไรหายไปจากตลาดเกือบหมดแล้ว เหลือแต่ผู้ซื้อเรียลดีมานด์ ซึ่งซื้อแล้วอยู่อาศัยจริง กับกลุ่มซื้อลงทุน ทั้ง 2 กลุ่มเป็นผู้ซื้อมีคุณภาพ รัฐบาลควรสนับสนุนให้สามารถซื้อและขอสินเชื่อได้”

รายกลางฟื้นชีพกู้มีเงินทอน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจความเคลื่อนไหวการจัดแคมเปญโปรโมชั่นในช่วงไตรมาส 2/63 พบว่าผลกระทบจากโควิดทำให้มีแรงกระเพื่อมค่อนข้างรุนแรง โดยผู้ประกอบการรายใหญ่ หรือบิ๊กแบรนด์กระตุ้นการตัดสินใจซื้อในกลุ่มสินค้าระดับไฮเอนด์-ลักเซอรี่ โดยเฉพาะห้องชุดลดราคาตั้งแต่ 1-5 ล้านบาท ในขณะที่ผู้ประกอบการรายกลาง-เล็ก ผู้ประกอบการหน้าใหม่ มือสมัครเล่น ก็จัดกิจกรรมการตลาดแบบไม่มีใครยอมใคร

จากการสำรวจโปรโมชั่นโครงการ เซริโอ-Serio สุขุมวิท 50 ทำเลห่างรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีอ่อนนุช 300 เมตร เจ้าของโครงการ บริษัท ไทยทวีพร ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด และบริษัท ซีเอ็มเอ็ม กรุ๊ป จำกัด ก่อตั้งในปี 2555 ก่อสร้างบนที่ดิน 1 ไร่เศษ สูง 8 ชั้น 2 อาคาร รวม 154 ยูนิต แบ่งเป็นอาคาร A 77 ยูนิต, อาคาร B 74 ยูนิต โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จธันวาคม 2561

โปรโมชั่นระบุราคาขายเฉลี่ย 1.09 แสนบาท/ตารางเมตร เทียบกับราคาตลาดในทำเลอยู่ที่ 1.4-1.5 แสนบาท/ตารางเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างระบายสต๊อกห้องชุดพร้อมอยู่ นำห้องชุดฟูลลี่เฟอร์นิช ตกแต่งเฟอร์นิเจอร์พร้อมอยู่ ราคาเริ่มต้น 3.19 ล้านบาท จัดโปรฯ ยกเว้นค่าทำสัญญาและค่าส่วนกลาง 1 ปี

ไฮไลต์อยู่ที่ลูกค้ามี “เงินลงทุน 5 แสนบาท” หรือการกู้เงินมีส่วนต่างเหลือให้ลูกค้าเป็นเงินนำมาใช้ลงทุน วิธีการ บริษัทนำห้องชุดหลุดดาวน์ 4 ยูนิต มาจัดโปรโมชั่น จอง 10,000 บาท ยื่นกู้ 3 ธนาคารหลัก ได้แก่ ธ.ไทยพาณิชย์ กสิกรไทย และกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้สามารถยื่นกู้ธนาคารเอกชนอื่น ๆ ได้ด้วย

แบ่งเป็นห้องชุด 1 ห้องนอน จำนวน 3 ยูนิต ราคาขาย 2.99 ล้านบาท สามารถยื่นกู้ได้ 3.1 ล้านบาท และแบบ 2 ห้องนอน 1 ยูนิต ราคาขาย 4.99 ล้านบาท สามารถกู้ได้ 7.1 ล้านบาท ซึ่งส่วนต่างสินเชื่อจะตกเป็นของลูกค้า

อีกรายโครงการทาวน์โฮมแบรนด์อันนาทาวน์ แจ้งวัฒนะ-เมืองทองธานี ลดราคาจาก 3.79 ล้านบาท เหลือ 3.29 ล้านบาท ออกแบบเป็นทาวน์โฮม 3 ชั้น 4 ห้องนอน 5 ห้องน้ำ จัดโปรฯรับเงินเหลือสูงสุด 5 แสนบาท

บิ๊กแบรนด์เปิดเกมโปรยาวถึง Q3

จากการสำรวจพบว่าบิ๊กแบรนด์ประเมินสถานการณ์ยาวนาน จึงได้นำเสนอโปรโมชั่นยาวถึงไตรมาส 3/63 โดย บมจ.เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จัด “เสนาผ่อนให้ช่วงวิกฤตโควิด” ผ่อน 0 บาท ช่วยจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยถึงเดือนกันยายน 2563

วิธีการจ่ายเป็นเช็คล่วงหน้าให้กับทุกธนาคารที่ลูกค้าทำสัญญากู้ไม่น้อยกว่า 30 ปี และรับเงินคืนสูงสุด 1.3 ล้านบาท ในโครงการเสนา พาร์ค แกรนด์ รามอินทรา หรือส่วนลด 2 แสนบาท สำหรับผู้ซื้อบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม และคอนโดฯ 23 โครงการ ราคาเริ่ม 0.9-9 ล้านบาท เงื่อนไขโอนกรรมสิทธิ์ภายใน 31 สิงหาคม 2563

บมจ.แสนสิริจัดโปรฯ เดอะไลน์ วงศ์สว่าง ราคาพิเศษเริ่ม 2.59 ล้านบาท ฟรีค่าส่วนกลาง 1 ปี, เฟอร์นิเจอร์ครบชุด, เครื่องใช้ไฟฟ้า, Nasket ช็อปที่บ้านโดยไม่ต้องออกไปเสี่ยงโควิด รวมทั้งบริการ private tour ในการเยี่ยมชมโครงการตามกฎ social distancing

ผ่อนให้=อยู่ฟรี 1-3 ปี

รูปแบบการแข่งขันโปรโมชั่นยังพบว่ามีการช่วยผ่อนหรืออยู่ฟรี 1-2 ปีมากขึ้น อาทิ มจ.แสนสิริ จัดแคมเปญ “แสนสิริ ผ่อนให้ สูงสุด 24 เดือน” นำ 62 โครงการ ทั่วประเทศให้เลือกช็อปราคาตั้งแต่ 0.99-32.5 ล้านบาท ช่วยลดภาระผ่อนให้ลูกค้าทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย และโปรโมชั่นอื่น อาทิ ฟรีค่าโอน-จำนอง, ค่าส่วนกลาง 2 ปี เงื่อนไขลูกค้าต้องทําสัญญากู้กับธนาคารไทยพาณิชย์เท่านั้น และโอนภายใน 30 มิถุนายน 2563

บมจ.ไรมอนแลนด์นำห้องชุด เดอะลอฟต์ ราชเทวี ราคา 6.8 ล้านบาท ลงทะเบียนออนไลน์รับส่วนลด 1.5 ล้านบาท

คอนโดฯ LYSS พหลโยธิน 27 ราคาเริ่มต้น 2.88 ล้านบาท จัดแคมเปญช่วยผ่อน 1 ปี, ฟรีเฟอร์นิเจอร์, ฟรี Netflix gift card สนับสนุนมาตรการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ

บมจ.เจ้าพระยาพร็อพเพอร์ตี้ หรือ CMC นำคอนโดฯ ชาโตว์อินทาวน์ สุขุมวิท 64/1 ลดราคาจากห้องละ 3.69 ล้านบาท ลดเหลือ 2.69 ล้านบาท หรือลดทันที 1 ล้านบาท พร้อมแพ็กเกจช่วยผ่อนนาน 3 ปี ฟรีทุกค่าใช้จ่าย, ฟรีแอร์, ฟรีเครื่องใช้ไฟฟ้า และโปรฯ ช่วยผ่อนนาน 3 ปี

ตลาดแมสลด 5 แสน-1 ล้าน

บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท นำห้องชุดเดอะทรี ลาดพร้าว 15 ราคาเริ่มต้น 1.72 ล้านบาท จัดโปรฯ จอง 999 บาท รับประภันภัยโควิด-19 ทุกยูนิต, รับส่วนลดสูงสุด 5 แสนบาท, ห้องชุดเดอะไพรเวซี่ พระราม 9 ราคาเดิม 2.45 ล้าน ลดเหลือ 1.99 ล้านบาท รับส่วนลดสูงสุด 6 แสนบาท

บมจ.เอพี ไทยแลนด์ จัดโปรฯ บ้านเดี่ยว 30 ทำเล ราคาเริ่มต้น 4.99 ล้านบาท ลดสูงสุด 5 ล้าน ฟรีค่าโอน-ค่าส่วนกลาง และจัด “โปรฯ ปิดปาก” ระบายสต๊อกห้องชุดไลฟ์ อโศก พระราม 9 จากราคาเฉลี่ยตารางเมตรละ 1.39 แสน ลดเหลือ 1.15 แสน/ตารางเมตร, ส่วนลดสูงสุด 5 แสนบาท, จัดแคมเปญ Pleno No Pay ทาวน์เฮาส์ราคา 1.89-6.59 ล้าน ดาวน์และผ่อน 0 บาท ถึงเดือนเมษายน 2563 นอกจากนี้ จัดโปรฯโครงการใหม่ แอสปาย สาทร-ราชพฤกษ์ ลดจากราคาเริ่มต้น 3.29 ล้าน เหลือ 2.59 ล้านบาท หรือลด 7 แสนบาท

โครงการบ้านเดี่ยว เวลาน่า กอล์ฟ เฮ้าส์ บ้านฉาง-ระยอง จัดยูนิตราคาพิเศษ 3.99 ล้านบาท ลดสูงสุดครึ่งล้านบมจ.ออลล์อินสไปร์ นำทาวน์เฮาส์แบรนด์เดอะวิชั่น นวมินทร์ 87 ราคาเริ่มต้น 3.19 ล้านบาท รับแคชแบ็ก 7.5 แสนบาท เป็นต้น

QR Code LINE@ Prachachat

ไม่พลาดข่าวสำคัญ เจาะลึกทุกประเด็น
เพิ่มเราเป็นเพื่อนทาง @prachachat

ติดตามข่าวธุรกิจ

22-2-728x458

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 4 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้นำขบวนรถไฟฟ้าบีทีเอสเข้าดำเนินการทดสอบการเดินรถใน 4 สถานีใหม่ ได้แก่ สถานีกรมป่าไม้ (N14) สถานีบางบัว (N15) สถานีกรมทหารราบที่ 11 (N16) สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (N17) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต

ในการทดสอบการเดินรถนั้น บริษัทฯ ได้นำรถไฟฟ้าวิ่งทดสอบในราง (Test Track) ทั้งเส้นทาง และวัดระยะระหว่างโครงสร้างกับตัวรถไฟฟ้า รวมถึงตรวจสอบว่าอุปกรณ์ที่ติดตั้งไม่กีดขวางการเดินรถ โดยภาพรวมการทดสอบเดินรถไป-กลับระหว่าง 4 สถานี ผลการทดสอบเป็นไปได้อย่างราบรื่น ไม่มีข้อบกพร่อง

ทั้งนี้ บริษัทฯ จะเตรียมพร้อมทดสอบระบบรวม (System Integration Test) เช่น ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบการสื่อสาร เพื่อให้มั่นใจว่าการทำงานทุกระบบสอดคล้องกัน มีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัย โดยยังคงเป้าเปิดในเดือน มิ.ย. และเปิดตลอดสายถึงคูคตปลายปี 2563

นายสุรพงษ์กล่าวอีกว่า ถึงแม้สถานการณ์จะยังอยู่ในช่วงของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ บริษัทฯ ก็ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าเตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้าน เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการ ตามแผนที่กำหนด โดยได้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ให้บริษัทฯ สามารถทำงานได้ตามแผน ควบคู่ไปกับการดำเนินการมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) เพื่อเพิ่มความมั่นใจ และอำนวยความสะดวก ปลอดภัยแก่ผู้มาใช้บริการทุกท่าน

QR Code LINE@ Prachachat

ไม่พลาดข่าวสำคัญ เจาะลึกทุกประเด็น
เพิ่มเราเป็นเพื่อนทาง @prachachat

งานออกแบบที่ไม่มีชื่อ-11-1-728x410

บมจ.มั่นคงเคหะการเดินหน้าแผนธุรกิจ 5 ปี เน้นปรับตัว-รูปแบบการดำเนินงานรับมือโควิด-19 แจงไตรมาส 1/63 ทำยอดขาย 500 ล้านบาท ยอดจอง Pre-Approve และ Backlog เพิ่มขึ้น 80% ธุรกิจเพื่อเช่า-การบริการ ณ สิ้นปี 2562 มีรายได้เพิ่มขึ้น 30% เตรียมขายทรัพย์สินบางส่วนมูลค่า 2,000 ล้านเข้ากองทรัสต์เพื่อการบริหารจัดการสภาพคล่องทางการเงิน

นายวรสิทธิ์ โภคาชัยพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มั่นคงเคหะการจำกัด (มหาชน) หรือ MK เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 บริษัทได้รับผลกระทบไม่มากนัก กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง สินค้ามีดีมานด์สูงในกลุ่มราคา 3-5 ล้านบาท และกว่า 70% เป็นลูกค้าไม่ติดภาระสัญญากู้เงิน

ทั้งนี้ ไตรมาส 1/63 สร้างยอดขายได้กว่า 500 ล้านบาท หากนับรวมยอดจอง Pre-Approve และ Backlog  แล้ว บริษัททำยอดขายคิดเป็น 35% ของเป้าทั้งปี 2563 โดยช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามียอดพรีเซล  90 ล้านบาท/สัปดาห์ เพิ่มขึ้น 80%”

นายวรสิทธิ์กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจเพื่อเช่าและการบริการว่า ในปี 2562 มีรายได้รวม 530 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากปี 2561 มาจากธุรกิจโรงงานและคลังสินค้าให้เช่า โครงการบางกอกฟรีเทรดโซนโดย บริษัท พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ผลงานในปี 2562 มีผู้เช่าแล้ว 90%

ธุรกิจเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ พาร์ค คอร์ท สุขุมวิท 77 ยังสามารถรักษาอัตราเช่า 80%, ธุรกิจสนามกอล์ฟ ฟลอร่า วิลล์ กอล์ฟ แอนด์ คันทรีคลับ, ธุรกิจบริการด้านดูแลจัดการบริหารโครงการอสังหาริมทรัพย์ โดย บริษัท ยัวร์ส พร็อพเพอร์ตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด

รวมไปถึงธุรกิจโครงการสถานพยาบาล สถานฟื้นฟู และเวชศาสตร์ชะลอวัย (Wellness Center) ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโต และมีแผนจะเปิดตัวช่วงปลายปี 2563

ส่วนหุ้นกู้และตั๋วแลกเงินที่จะครบกำหนดในปีนี้ บริษัทเตรียมแผนการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยในช่วงปลายปี 2562 ได้ระดมออกหุ้นกู้ 3 ปี 11 เดือน วงเงิน 1,565 ล้านบาท และตัดขายทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในแผนพัฒนาในอนาคตอันใกล้ 2,600 ล้านบาทในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังมีทรัพย์สินที่ไม่มีภาระผูกพันอีกมากกว่า 2,500 ล้านบาท ทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่นเพื่อใช้เป็นช่องทางในการเสริมสภาพคล่อง

สำหรับปีนี้วางแผนขายทรัพย์สินในส่วนโรงงานและคลังสินค้าให้เช่า 130,000 ตารางเมตร มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท เข้ากองทรัสต์ เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์  โดยทาง กลต.ได้อนุมัติให้จัดตั้งบริษัทจัดการกองทรัสต์ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเสนอขายต่อประชาชนได้ในไตรมาส 3/63

และบริษัทรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน ที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน สัดส่วน 1.3 เท่า ถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม
 
“ในปีนี้ถือว่าเป็นปีที่ท้าทายด้วยปัจจัยหลายๆ ด้าน ทั้งปัจจัยจากไวรัสโควิด-19 และสภาวะเศษฐกิจ แต่เราก็ยังคงเดินหน้าสานต่อนโยบายสร้างความสมดุลของรายได้ธุรกิจอสังหาฯ​โอนกรรมสิทธิ์ กับพอร์ตรายได้ประจำ ตามแผนธุรกิจ 5 ปี ตั้งเป้าขยับสัดส่วนกำไรของทั้ง 2 ฝั่งให้อยู่ที่  50/50 ภายในปี 2564” นายวรสิทธิ์ กล่าวสรุป